12 ตุลาคม 2551

การใช้กล้องถ่ายภาพ

หลังจากที่ได้ศึกษา เกี่ยวกับอุปกรณ์ในการถ่ายภาพมาแล้ว ในบทนี้จะพูดถึง การใช้กล้องถ่ายภาพ โดย
เริ่มต้นจาก

1 การบรรจุฟิล์ม เพื่อให้กล้องพร้อมที่จะใช้งาน ผู้ใช้ต้องศึกษาจากคู่มือของ กล้องอย่างละเอียด เพราะ กล้องแต่ละชนิดแต่ละรุ่นจะมีกลไกในการทำงานไม่เหมือนกันแต่กล้อง 35 มม. สะท้อนเลนส์เดี่ยว โดยทั่วไป แล้วจะ ไม่แตกต่างกันเท่าใดนักโดยมีขั้นตอนการบรรจุฟิล์มและการตรวจสอบเป็นขั้นตอน ดังนี้




1 เปิดฝาหลังกล้องและดึงก้านกรอฟิล์มกลับขึ้นจนสุดและวางกลักฟิล์มให้เข้า กับช่องใส่กลักฟิล์ม ระวังอย่าให้นิ้วหรือหางฟิล์มกระทบกับม่านชัตเตอร์ เป็นอันขาด









2 ดึงหางฟิล์มออกจากกลัก และสอดปลายของหางฟิล์มเข้ากับแกนหมุนฟิล์ม ให้แน่นและให้รูหนามของกล้องเข้ากับรูหนามเตยของฟิล์มให้สนิท







3 ปิดฝาหลังกล้องทดลองขึ้นฟิล์มและกดชัตเตอร์ประมาณ 2 ภาพ (เพราะเป็นส่วนหัวฟิล์มที่โดนแสงแล้ว)ตรวจสอบความเรียบร้อยของฟิล์ม โดยหมุนก้านกรอฟิล์มกลับให้ตึง เมื่อขึ้นฟิล์มก้านกรอฟิล์มกลับจะหมุนตาม แสดงว่ากล้องถ่ายภาพพร้อมที่จะใช้งานได้แล้ว



หมายเหตุ กล้องถ่ายภาพบางรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้องที่ถ่ายภาพระบบอัตโนมัติจะมีกลไกในการบรรจุฟิล์มที่สะดวกขึ้น ให้ศึกษาจากคู่มือการใช้กล้องถ่ายภาพชนิดนั้น ๆ

2 การตั้งค่าความไวแสงของฟิล์ม (ISO)
ฟิล์มที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจะมีค่าความไวแสงที่แตกต่างกันตามความต้องการของผู้ใช้ ดังนั้นก่อน การถ่ายภาพควรต้องตรวจสอบว่าฟิล์มที่ใช้มีความไวแสงเท่าใด โดยดูได้จากกล่องของฟิล์มและที่ม้วนของ ฟิล์ม หากกำหนดค่าความไวแสงของฟิล์ม ผิดพลาดจะทำการวัดแสงผิดพลาดด้วย จะทำให้ภาพที่ได้อาจจะ มืดหรือสว่างเกินไปก็เป็นได้ ในกล้องถ่ายภาพ 35 มม.สะท้อนเลนส์เดี่ยวโดยทั่วไปจะมีปุ่มปรับค่าความไวแสงไว้ที่ด้านบนของตัว กล้อง ซึ่งมีตัวเลขแสดงค่าความไวแสงขนาดต่าง ๆ ไว้ ผู้ใช้ต้องปรับให้ค่าความไวแสงให้ถูกต้อง ซึ่งกล้อง แต่ละรุ่นจะมีวิธีการไม่เหมือนกันซึ่งต้องดูรายละเอียดจากคู่มือการใช้กล้องชนิดนั้น ๆ ในกล้องถ่ายภาพบางรุ่นจะมีระบบปรับค่าความไวแสงเองโดยอัตโนมัติโดยตัวกล้องจะมีปุ่มสำหรับอ่านค่า
ความไวแสงจากรหัสที่กลักฟิล์มดังนั้นเวลาจับกลักฟิล์มต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดของมือเพราะอาจจะทำ ให้รหัสของฟิล์มมีรอยหรือมีคราบสกปรกจะทำให้การวัดแสงผิดพลาดไปด้วย


3 วิธีการจับกล้องถ่ายภาพ

วิธีการจับกล้องถ่ายภาพเพื่อถ่ายภาพต้องจับในท่าที่ถนัดและมั่งคงที่สุด เพื่อป้องกันการ สั่นไหว ของกล้องถ่ายภาพขณะบันทึกภาพ ด้วยการจับด้วยสองมือให้มั่นคง ใช้นิ้วชี้ของมือขวาจะใช้กดชัตเตอร์ และปรับความเร็วชัตเตอร์ และนิ้วหัวแม่มือจะใช้ในการเลื่อนฟิล์ม และใช้อุ้งมือและนิ้วที่เหลือจับกล้องให้มั่น ส่วนมือข้างซ้ายจะวางอยู่ที่ด้านล่างของกล้องโดยใช้อุ้งมือเป็นตัวรองรับด้านล่างของกล้อง ใช้นิ้วหัวแม่มือ สำหรับการปรับระยะชัดและปรับขนาดรูรับแสง ข้อศอกทั้งสองข้างชิดลำตัวเพื่อให้กล้องนิ่งที่สุดในขณะบันทึกภาพ
นอกจากนี้ยังมีท่าจับกล้องในลักษณะต่างๆ ตามสถานการณ์การถ่ายภาพ เช่น ท่ายืน ท่านั่ง ท่านอนและท่าอื่น ๆ เพื่อให้ได้ภาพในมุมที่สวยและคมชัดที่สุด






1 ท่าถ่ายภาพท่าปกติ ใช้มือซ้ายประคองกล้องให้นิ่ง พร้อมปรับระยะชัด และปรับรูรับแสง มือขวา จับตัวกล้องให้แน่น พร้อมทั้งลั่นชัตเตอร์ ข้อศอกชิดลำตัว ทำให้การจับถือกล้องมั่นคงยิ่งขึ้น













2 ท่าถ่ายภาพท่าปกติ ในแนวตั้ง ข้อศอกชิดลำตัว ทำให้การจับถือกล้องมั่นคง














3 ท่าถ่ายภาพในท่านั่ง ข้อศอกซ้ายตั้งบนหัวเข่าช่วยให้กล้องนิ่งยิ่งขึ้น








4 ท่าถ่ายภาพท่าในท่านอน ข้อศอกทั้งสองข้างตั้งพื้น ใช้ในกรณีถ่ายภาพที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ โดยไม่มีขาตั้งกล้อง หรือถ่ายภาพ วัตถุในที่ต่ำ








5 ท่าถ่ายภาพท่าในท่านอน วางกล้องกับพื้น ใช้ในกรณีที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ มาก เพื่อให้กล้องนิ่งที่สุด ( ถ้ามีขาตั้งกล้องให้ใช้แทน) หรือตั้งเวลาในการถ่ายภาพตัวเอง








6 ท่าถ่ายภาพท่าเหนือศรีษะ ใช้สำหรับถ่ายภาพผ่านสิ่งกีดขวาง แต่ถ่ายภาพในลักษณะนี้ ผู้ถ่ายต้องมั่นใจว่าจะสามารถถ่ายภาพได้ไม่หลุด กรอบ หรือกะระยะโฟกัสได้แม่นยำ



4 วิธีการถ่ายภาพ

4.1 การปรับระยะชัด (Fucusing)

สิ่งที่สำคัญในการถ่ายภาพ คือการปรับระยะชัดหรือระยะโฟกัสจะช่วยให้ภาพที่ได้มีความคมชัด สำหรับกล้อง 35 มม. สะท้อนเลนส์เดี่ยวสามารถมองผ่านช่องมองภาพได้ โดยปรับความคมชัดจากวงแหวน ปรับระยะชัดที่เลนส์ โดยภาพที่ปรากฏผ่านช่องมองภาพจะเป็นภาพจริง ดังนั้นผู้ถ่ายภาพควร ต้องคำนึงถึง วัตถุที่ต้องการเน้นให้มีความชัดเจนมากที่สุด ที่กระบอกเลนส์จะมีค่าแสดงตัวเลขบอก ระยะทางจากตัวกล้อง ไปจนถึงวัตถุที่ปรับระยะชัด ช่วงระยะในการชัดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของรูรับแสง ยิ่งแคบมากยิ่งทำ ให้ ระยะชัดลึกมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าเปิดรูรับแสงกว้างมากต้องระวังการปรับระยะชัดให้ดีเพราะช่วงชัดลึก จะสั้น หรือเลนส์ยิ่งมีความยาวโฟกัสมากเท่าใดความชัดลึกย่อมมีน้อยตามไปด้วย ดังนั้นผู้ใช้ต้องทำความ เข้าใจ ในเรื่องนี้และฝึกการปรับระยะชัดให้แม่นยำและรวดเร็ว ในปัจจุบันกล้องบางรุ่นจะมีระบบปรับความชัดอัตโนมัติ (Auto focus) ซึ่งต้องศึกษาการใช้งาน จากคู่มือของกล้องรุ่นนั้นให้ดี เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการถ่ายภาพ

4.2 การกำหนดความเร็วชัตเตอร์

การกำหนดความเร็วชัตเตอร์เป็นความจำเป็นอีกประการหนึ่งในการถ่ายภาพ เพราะจะเป็น ตัวกำหนดช่วงเวลาในการรับแสงของฟิล์ม ซึ่งที่ตัวกล้องจะมีตัวเลขแสดงค่าความเร็วชัตเตอร์เป็นจำนวน เต็ม เช่น B 1 2 4 8 15 30 60 125 250 500 1000 เป็นต้น แต่ความ เป็นจริงแล้ว 1 หมายถึง กล้องจะเปิดม่านชัตเตอร์ให้แสงกระทบกับฟิล์มเป็นเวลา 1 วินาที 2 หมายถึง1/2 วินาที ไปจนถึง 1/1000 วินาที ค่าตัวเลขยิ่งสูงมากเท่าใดความเร็วยิ่งมากขึ้นเท่านั้น การกำหนดความเร็วชัตเตอร์จะขึ้นอยู่กับสภาพแสงและจุดประสงค์ในการถ่ายภาพเป็นสำคัญ ถ้าแสงมีความสว่างมากเช่นในตอนกลางวันช่วงเวลา 10.00 น. -14.00 น. ในวันที่ฟ้าสดใสไม่มีเมฆ หรือหมอกมาบังจะสามารถตั้งความเร็วชัตเตอร์ได้สูง เช่น 1/250 1/500 หรือ 1/1000 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ การกำหนดรูรับแสงด้วยซึ่งจะได้กล่าวถึงในหัวข้อถัดไป สำหรับผู้ที่เริ่มต้นถ่ายภาพควรตั้งความเร็วชัตเตอร์ สูงไว้ คือ ตั้งแต่ 1/125 ขึ้นไปจะช่วยป้องกันปัญหากล้องสั่นไหว จะส่งผลให้ภาพที่ได้พร่ามัว และการถ่ายภาพ วัตถุที่ไม่หยุดอยู่กับที่ เช่น การแข่งขันกีฬา ควรตั้งความเร็ว ชัตเตอร์ที่สูงด้วย เช่นกัน เพราะจะทำให้ ภาพ ที่ไห้หยุดนิ่ง (Stop action)

4.3การกำหนดค่ารูรับแสง

การกำหนดรูรับแสง เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติควบคู่กับการกำหนดความเร็วชัตเตอร์ เพราะเป็น ตัวกำหนดปริมาณของแสงที่มากระทบกับฟิล์ม ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของรูรับแสงโดยมีการ กำหนดค่าตั้งแต่กว้างสุด จนถึงแคบสุด โดยแทนค่าเป็นตัวเลข ยิ่งตัวเลขมากเท่าใดรูรับแสงยิ่งแคบลง วิธีการเพิ่ม หรือลดรูรับแสงนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแสง ค่าความไวแสงของฟิล์มและความเร็วชัตเตอร์ เป็นสำคัญ ยิ่งเปิดรูรับแสงแคบเท่าใดต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำลง เพื่อรักษาความสมดุลย์ของแสง การเปิดรูรับแสงนั้นจะส่งผลต่อภาพในเรื่องของระยะชัด (Depth of field) ของภาพ ในกรณีที่เปิดรูรับแสงกว้าง จะทำให้ภาพมีความชัดเฉพาะจุดหรือชัดตื้น ถ้าเปิดรูรับแสง ปานกลางถึงแคบสุดภาพ จะเพิ่มระยะชัดหรือมี ความชัดลึกมากขึ้น

4.4 การวัดแสง
หลังจากที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความเร็วชัตเตอร์กับการเปิดรูรับแสงแล้วต้องทำความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องการวัดแสงเพื่อให้ได้ภาพมีความสมดุลย์ของแสงและความอิ่มตัวของสี ความเร็วชัตเตอร์และรูรับ แสงต้องมีความสัมพันธ์กัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพส่วนใหญ่จะสามารถปรับสภาพของการรับแสง ของกล้องได้โดยอัตโนมัติก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ถ่ายภาพต้องทำความเข้าใจคือ ลักษณะของภาพที่ต้องการ อาจต้องการภาพที่มีความชัดลึก เช่น ภาพภูมิทัศน์ ภาพงานพิธีต่าง ๆ หรือภาพที่ต้องการให้มีลักษณะชัดตื้น เพื่อเน้นเฉพาะจุด เช่น การถ่ายภาพบุคคล การถ่ายภาพวัตถุ ต่าง ๆ หรือภาพที่ต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ ที่สูงเพื่อหยุดภาพที่เคลื่อนไหวอย่างเร็ว หรือภาพที่ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้า ภาพที่วัดแสงได้ถูกต้อง หรือ Normal จะได้ภาพที่มีความเข้มของสีถูกต้อง เหมาะสม แต่ถ้าวัดแสง ผิดพลาดคือ ให้ฟิล์มรับแสงน้อยเกินไป หรือ Under อาจเกิดจากเปิดรูรับแสงน้อยเกินไป หรือ ใช้ความเร็ว ชัตเตอร์เร็วเกินไป ภาพจะออกมามีโทนสีดำมาก หรือที่เรียกว่า ภาพมืด ยิ่งผิดพลาดมากเท่าใดภาพยิ่ง มืดมากเท่านั้น ส่วนภาพที่รับแสงมากเกินไป หรือ Over มีสาเหตุจากใช้รูรับแสงกว้างเกินไป หรือความเร็วชัตเตอร์ช้าเกินไป ทำให้ภาพที่ได้มีสีขาวมาก หรือแสงจ้ามาก ทำให้ภาพขาดความสดใสไปมาก ดังนั้น ก่อนการกดชัตเตอร์ ควรศึกษาเรื่องการวัดแสงให้ถูกต้อง ศึกษาคู่มือการใช้กล้องและฟิล์มให้ดี เพราะถ้าวัดแสงผิดพลาดจะเสียทั้งเวลา เงินทอง และโอกาสที่จะได้ภาพดีดีไปอย่างน่าเสียดาย