12 ตุลาคม 2551

อุปกรณ์ในการถ่ายภาพ

1ตัวกล้อง (Camera body)

เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพ ตัวกล้องจะมีลักษณะเป็นกล่องภายในมีสีดำ ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันแสงกระทบกับฟิล์ม ตัวกล้องอาจทำด้วยโลหะ หรือพลาสติกแข็ง ซึ่งแต่ละบริษัทใช้ผลิตออกมาจำหน่าย ภายในตัวกล้องจะมีกลไกต่าง ๆ หรืออุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ ที่ทำงานร่วมกันในการบันทึกภาพ กล้องบางรุ่นอาจเป็นระบบกลไก บางรุ่นอาจเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติ หรือบางรุ่นอาจเป็นระบบดิจิตอล เพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพ ภายในตัวกล้อง จะมีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้

ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน กล้องถ่ายภาพได้มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ได้มีการนำเอาระบบดิจิตอล (Digital)ที่มีคสะดวก รวดเร็วและมีความแม่นยำในการถ่ายภาพ ทำให้รูปแบบของกล้องถ่ายภาพได้เปลี่ยนไป จากการบันทึกภาพด้วยฟิล์มมาเป็น การบันทึกภาพด้วยระบบหน่วยความจำ (Memory) และสามารถแสดงผลได้ทั้งทางจอภาพคอมพิวเตอร์ (Monitor) และแสดงผลหรือพิมพ์ภาพผ่านเครื่องพิมพ์ (Printer)





2เลนส์ (Lens)
เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการถ่ายภาพ โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่ถ่ายทอดแสงสะท้อนภาพให้ผ่านเข้าไปในกล้อง รวมแสงให้เป็นภาพที่มีความคมชัดบันทึกลงแผ่นฟิล์ม เลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพ 35 มม. สะท้อนเลนส์เดี่ยวนั้น จะทำจากแก้วเลนส์ จำนวนหลายชิ้น เลนส์แต่ละชิ้นจะเคลือบด้วยสารไวแสง เพื่อให้การรับภาพมีความคมชัด และภายในกระบอกเลนส์จะมีแผ่นไดอะแฟรม (Diaphragm) สำหรับเพิ่มหรือลดขนาดรูรับแสงเพื่อควบคุมปริมาณแสงเข้าไปในตัวกล้อง

ชนิดของเลนส์
นักประดิษฐ์เลนส์ ถ่ายภาพ ได้พยายามพัฒนา ออกแบบ เลนส์ให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท โดยจำแนกประเภทของเลนส์ตามความยาวโฟกัส (Focal length) เลนส์ที่มีความยาว โฟกัสแตกต่างกัน จะให้ผลในการถ่ายภาพแตกต่างกันออกไป โดยมีเลนส์ขนาดหนึ่งใช้เป็นเลนส์ประจำกล้องเพื่อถ่ายภาพธรรมดาทั่วไป ซึ่งมีองศาในการรับภาพใกล้เคียงกับสายตาของมนุษย์ในการมองทั่วไป และมีเลนส์ขนาด อื่นแตกต่างกันออกไปอีกทั้งชนิด ที่มีองศารับภาพกว้างเหมาะสำหรับถ่ายภาพภูมิทัศน์ (Landscape) และเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสแคบ แต่สามารถถ่ายภาพในระยะไกลได้ นอกจากนี้ยงมีเลนส์ชนิดพิเศษที่สามารถอำนวยความสะดวก ในการถ่ายภาพได้ลักษณะตามต้องการ โดยจำแนกชนิดของเลนส์ ดังนี้

1เลนส์มาตรฐาน (Normal lens หรือ Standard lens)

เป็นเลนส์ประจำกล้อง ซึ่งเมื่อซื้อกล้องถ่ายภาพจะมี เลนส์ชนิดนี้ ติดมาด้วยเป็นเลนส์ที่ใช้ง่าย มีความยาวโฟกัส ระหว่าง 40-58 มม. ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขนาด 50 มม. (โดยวัดจากกึ่งกลางเลนส์ถึงฟิล์ม) เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มเรียนรู้ในเรื่องการถ่ายภาพ เป็นเลนส์ที่มีองศาในการรับภาพ กว้างประมาณ 47 องศา ซึ่งใกล้เคียงกับสายตาของมนุษย์
เลนส์มาตรฐาน (Normal lens หรือ Standard lens) มีความยาวโฟกัสตั้งแต่ 40 - 58 มม. องศาในการรับภาพประมาณ 47 องศา เหมาะสำหรับถ่ายภาพทั่วไป


2เลนส์มุมกว้าง (Wide-angle lens)

เป็นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสั้นกว่าเลนส์มาตรฐาน และรับภาพได้มุมกว้างกว่า เหมาะสำหรับถ่ายภาพในสถานที่แคบหรือระยะห่างระหว่างกล้องถ่ายภาพ กับวัตถุที่จะถ่ายอยู่ใกล้กันแต่ต้องการเก็บภาพเป็น บริเวณกว้าง ซึ่งเลนส์ชนิดอื่นเก็บภาพได้ไม่หมด เหมาะสำหรับถ่ายภาพภูมิทัศน์(Land scape) หรือภาพในลักษณะอื่น ๆ เลนส์ชนิดนี้มีความชัดลึกสูงมาก คือแสดงให้เห็นระยะชัดตั้งแต่ใกล้สุดถึงไกลสุดได้ดี แต่ต้องระวังในเรื่องของสัดส่วนระยะ (Perspective) ต่าง ๆ จะเกิดการผิดเพี้ยน (Distortion) ถ้าความยาวโฟกัสยิ่งสั้นมากยิ่งผิดเพี้ยนมากขึ้น คือ ภาพจะมีความโค้งเป็นรัศมีวงกลมเลนส์มุมกว้าง แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
2.1 เลนส์มุมกว้างธรรมดา (Moderate Wide-angle lens) มีความยาวโฟกัสระหว่าง28-35 มม. มีมุมองศาในการรับภาพระหว่าง 74-62 องศา

2.2 เลนส์มุมกว้างมาก (Ultra Wide-angle lens) มีความยาวโฟกัสอยู่ระหว่าง 13 -24 มม. มีมุมองศาในการรับภาพ 118-84 องศา
2.3 เลนส์มุมกว้างพิเศษ หรือเลนส์ตาปลา (Fisheye lens) มีความยาวโฟกัสน้อยมาก คืออยู่ระหว่าง 6 - 16 มม. มีมุมองศาในการรับภาพ 180-360 องศา ภาพที่ได้จะมีลักษณะโค้งกลม นิยมใช้สำหรับการถ่ายภาพในลักษณะสร้างสรรค์ และแปลกตา

ภาพเลนส์มุมกว้างมาก


เลนส์มุมกว้างพิเศษ หรือเลนส์ตาปลา


3เลนส์ถ่ายภาพไกล (Telephoto lens)

เลนส์ชนิดนี้มีคุณสมบัติตรงข้ามกับเลนส์มุมกว้าง คือ มีความยาวโฟกัสยาวกว่าเลนส์มาตรฐานและเลนส์มุมกว้าง มีมุมรับภาพแคบเฉพาะส่วนหนึ่งเท่านั้น เมื่อรับภาพในระยะและตำแหน่งเดียวกันจะทำให้ภาพที่บันทึกได้มีขนาดใหญ่กว่าการใช้เลนส์ธรรมดาและเลนส์มุมกว้าง

เลนส์ถ่ายภาพไกล มีขนาดความยาวโฟกัสตกต่างกันหลายขนาด จาก 70 มม. ถึง 2,000 มม. มีมุมองศาการรับภาพตั้งแต่ 34-3 องศา เพื่อใช้ประโยชน์ต่างกัน ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามความยาวโฟกัสได้ดังนี้

3.1เลนส์ถ่ายภาพไกลช่วงสั้น (Short Telephoto lens) มีความยาวโฟกัสอยู่ระหว่าง 70-135มม. มีมุมองศาในการรับภาพกว้างประมาณ 34-18 องศา เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป เช่น ภาพบุคคล ภาพภูมิทัศน์ ภาพถ่ายระยะใกล้เลนส์ถ่ายภาพไกลช่วงสั้น (Short Telephoto lens)

3.2เลนส์ถ่ายภาพไกลปานกลาง (Medium Telephoto lens) มีขนาดความยางโฟกัสอยู่ระหว่าง 150-300 มม. มุมองศาในการรับภาพจะแคบลงอยู่ระหว่าง 18-8 องศา เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ไม่สามารถเข้าใกล้วัตถุที่จะถ่ายได้ เช่น สัตว์ในกรง วัตถุที่อยู่ที่สูงพอสมควร
เลนส์ถ่ายภาพไกลปานกลาง(Medium Telephoto lens)


3.3เลนส์ถ่ายภาพช่วงไกล (Long Telephoto lens) มีความยางโฟกัสระหว่าง 400-600 มม. มุมองศาในการรับภาพจะแคบลงอยู่ระหว่าง 6-4 องศา เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่อยู่ไกล เช่น นกบนต้นไม้ การแข่งขันกีฬา เป็น

เลนส์ถ่ายภาพช่วงไกล(Long Telephoto lens)


3.4เลนส์ถ่ายภาพไกลช่วงพิเศษ (Super Long Telephoto lens) มีความยางโฟกัสระหว่าง 800-2,000 มม. มุมองศาในการรับภาพจะแคบลงอยู่ระหว่าง 3-1 องศา เท่านั้น สำหรับภาพที่ต้องการกำลังขยายมาก เช่น ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ภาพถ่ายบนตึกสูง เป็นต้น เลนส์พวกนี้จะน้ำหนักมากเป็นพิเศษ ควรใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการถ่ายภาพ
เลนส์ถ่ายภาพไกลช่วงพิเศษ(Super Long Telephoto lens)

4เลนส์ถ่ายภาพต่างระยะ (Zoom lens)

เรียกกันสั้น ๆ ว่า เลนส์ซูม เลนส์ชนิดนี้เป็น ที่นิยม อย่างมากเพราะใช้สะดวก มีเลนส์รวมกันอยู่หลายชนิดในตัวเดียว สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้ในตัว ด้วยการเลื่อนกระบอกเลนส์ (สำหรับเลนส์แบบวงแหวนเดียว)หรือการหมุนวงแหวน ปรับระยะ (สำหรับเลนส์แบบสองวงแหวน) ไม่ต้องคอยเปลี่ยนเลนส์บ่อย ๆ เหมือนกับเลนส์ชนิดความยาวโฟกัสคงที่ แต่เนื่องจากเลนส์ชนิดนี้มีชิ้นเลนส์มาก จึงทำให้ความคมชัดลดลงเล็กน้อย จึงไม่เหมาะสำหรับภาพที่ต้องการขยายใหญ่มาก ๆ แต่ก็เป็นเลนส์ที่มีผู้นิยมใช้กันมากตามเหตุผลที่ได้กล่าวมา เลนส์ถ่ายภาพต่างระยะ หรือเลนส์ซูมนี้ มีหลายขนาดให้เลือกใช้ โดยแบ่งออกเป็นหลายประเภท คือ

4.1เลนส์ซูมช่วงมุมกว้าง (Wide angle Zoom) มีช่วงขนาดความยาวโฟกัสสั้น รับภาพได้มุมกว้าง เช่นขนาด 20 -35 มม. 24-35 มม. 24-50 มม. เหมาะสำหรับการใช้งานในการถ่ายภาพมุมกว้าง
เลนส์ซูมช่วงมุมกว้าง (Wide angle Zoom)


4.2เลนส์ซูมช่วงสั้น (Short Zoom) เป็นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสตั้งแต่ขนาดสั้นถึงปานกลาง โดยจะมีเลนส์ขนดมาตรฐานรวมอยู่ด้วย เป็นเลนส์ซูมที่มีผู้นิยมใช้มากที่สุด และราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับเลนส์ซูมขนาดอื่น ๆ กล้องถ่ายภาพของบางบริษัทจะใช้เลนส์ซูมประเภทนี้แทนเลนส์มาตรฐาน มีช่วงความยาวโฟกัสที่นิยมใช้ คือ ขนาด 35-70 มม. 35-105 มม. 35-135 มม.
เลนส์ซูมช่วงสั้น (Short Zoom)

4.3เลนส์ซูมช่วงไกล (Telephoto Zoom) เป็นเลนส์ซูมที่มีความยาวโฟกัสสูงกว่าเลนส์สองประเภทที่ได้กล่าวมา โดยมีขนาดที่นิยมใช้ คือ 80-200 มม. 100-300 มม. สำหรับใช้งานแทนเลนส์ถ่ายภาพระยะไกล เลนส์ประเภทนี้จะมีน้ำหนักมาก ผู้ใช้ต้องอาศัยทักษะและความชำนาญในการใช้ เพราะอาจทำให้กล้องสั่นไหวได้ง่าย
เลนส์ซูมช่วงไกล (Telephoto Zoom)

4.4เลนส์ซูมช่วงไกลพิเศษ (Super Telephoto Zoom) เป็นเลนส์ซูมที่มีช่วงความยาวโฟกัสสูงมาก เหมาะสำหรับผู้ที่ถ่ายภาพเฉพาะด้าน เช่น ช่างภาพที่ถ่ายภาพกีฬาบางประเภท เช่น ฟุตบอล แข่งรถ นักถ่ายภาพสารคดี หรือนักถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ก็นิยมใช้เลนส์ประเภทนี้ เลนส์ซูมประเภทนี้ มีขนาดช่วงความยาวโฟกัสที่นิยมใช้ คือ 80-400 มม. 400-800 มม. 360-1200 มม.เลนส์ซูมช่วงไกลพิเศษ (Super Telephoto Zoom)

นอกจากเลนส์ซูม ทั้ง 4 ประเภทที่ได้กล่าวมาแล้ว บางบริษัทยังได้ผลิตเลนส์ซูมประเภทอื่น ๆ อีก เช่น มาโครซูม (Macro Zoom) สำหรับถ่ายภาพระยะใกล้ หรือเลนส์ซูมที่เป็นเลนส์รวมตั้งแต่เลนส์มุมกว้างถึงเลนส์ถ่ยภาพระยะไกล ปานกลาง เช่น ขนาดความยาวโฟกัส 28-20 มม. 35-200 มม. ดังนั้น การเลือกใช้เลนส์ชนิดนี้ ควรคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้งาน และสะดวกเป็นสำคัญ เพราะเลนส์ที่มีช่วงความยาวโฟกัสห่างกันมากเท่าใด ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น และราคาก็จะสูงขึ้นไปด้วย

5เลนส์ภาพถ่ายใกล้ (Macro lens)

เลนส์ถ่ายภาพใกล้หรือที่เรียกว่ามาโครเลนส์ เป็นเลนส์ชนิดที่สามารถถ่ายภาพในระยะใกล้ ๆ ได้มากเป็นพิเศษ ให้อัตราขยายของภาพได้ดีกว่าเลนส์ชนิดอื่น ๆ เหมาะสำหรับถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาดเล็ก เช่น แมลง ดอกไม้ เครื่องประดับ หรือวัตถุอื่น ๆ ที่ต้องการความคมชัดและให้เห็นรายละเอียดมาก ซึ่งเลนส์ชนิดอื่นทำไม่ได้ และยังสามารถใช้ถ่ายภาพทั่ว ๆ ไปได้เช่นเดียวกับเลนส์ชนิดอื่น ๆ ที่มีขนาดความยาวโฟกัสเท่ากัน

เลนส์มาโคร มีขนาดความ ยาวโฟกัสหลายขนาด ที่ใช้ทั่วไปมีตั้งแต่ 50 มม.55 มม.85 มม.105 มม.โดยมีอัตราขยายของภาพมีอัตราส่วน คือ 1:2 (ขนาดภาพที่ปรากฏบนฟิล์มจะมีขนาดครึ่งเท่าของวัตถุ)หรือ 1:1 (ขนาดภาพที่ปรากฏบนฟิล์มจะมีขนาดกันกับวัตถุ) เมื่อเทียบขนาดของวัตถุและภาพที่ปรากฏบนฟิล์มเลนส์ภาพถ่ายใกล้ (Macro lens)

จากเลนส์ทั้ง 5 ชนิดที่ได้กล่าวมา เป็นเลนส์ที่นิยมใช้กันทั่วไป อีกทั้งยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเลนส ์ ให้มีความทันสมัยละมีความสะดวกขึ้น เช่น มีการปรับระยะชัดแบบอัตโนมัติ (Auto focus) การปรับเพิ่ม ลดรูรับแสงอัตโนมัติ การนำเอาระบบสะท้อนด้วยกระจกมาใช้เพื่อลดความยาวของเลนส์ถ่ายภาพระยะไกลที่ มีความยาวโฟกัสสูง ๆ ให้มีขนาดสั้นลง หรือเลนส์มุมกว้างที่มีการแก้ระนาบภาพเอียง